เตือน!! ปวดต้นคอ ไหล่ ปวดร้าวเสียวและชาที่แขนและมือ อย่านอนใจ รีบไปพบหมอ...ตรวจหาสาเหตุและรักษาโดยเร็ว ก่อนที่จะเป็นอัมพาต
By: หมอต๋อ
คอของเราประกอบด้วยกระดูกคอ (Cervical Spine) ทั้งหมด 7 ข้อ หรือที่เรียกว่ากระดูก C1-C7 ระหว่างกระดูกแต่ละข้อมีแผ่นกระดูกอ่อนหรือที่เรียกว่าหมอนรองกระดูกคั่นกลางทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสีและเป็นเสมือนโช๊คอัพเพื่อดูดซับและกระจายแรงอัด ส่วนกระดูกที่เราคลำได้เป็นตุ่มๆ ที่อยู่ด้านหลังของคอนั้นเป็นกระดูกที่ยื่นออกจากส่วนหลังของกระดูกคอ ตรงกลางของกระดูกนี้มีลักษณะเป็นรูให้ประสาทไขสันหลังและหลอดเลือดสอดผ่าน ระหว่างรอยต่อของกระดูกคอแต่ละข้อจะมีช่องว่างให้รากประสาทงอกออกมา เพื่อนำคำสั่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อที่ไหล่ แขนและมือ และรับความรู้สึกส่วนต่างๆ กลับไปยังสมอง
กระดูกคอมีขนาดเล็กแต่ต้องแบกรับน้ำหนักของศีรษะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงเกิดความบอบช้ำบาดเจ็บได้ง่ายและเสื่อมได้เร็วกว่า ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท หลอดเลือดและไขสันหลังที่อยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ไหล่และสะบัก ปวดร้าวเสียวและชาที่แขนและมือ พร้อมทั้งอาการอื่นๆ ที่สลับซับซ้อน จนบางครั้งนึกไม่ถึงว่าการเจ็บปวดทรมานนี้มาจากกระดูกคอเรานี่
สาเหตุโรคกระดูกคอที่พบบ่อย:
ภาวะกระดูกคอเสื่อม กระดูกคอที่เสื่อมลงตามวัยนั้นอาจจะไปกดทับเส้นประสาท หลอดเลือดหรือไขสันหลังที่อยู่บริเวณเดียวกัน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป
อิริยาบถหรือท่าที่ผิดสุขลักษณะ เช่น การหนุนหมอนสูงเกินไป การทำงานในท่าเดียวนานๆ นั่งเขียนหนังสือ นั่งดูเอกสาร นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งดูทีวี เป็นต้น
คอเคล็ดหรือยอก เกิดจากคอมีการเคลื่อนไหวเร็วเกินไปหรือรุนแรงเกินไป เช่น การก้มเพื่อมองหาของใต้โต๊ะ การเอี้ยวตัวเพื่อหยิบของข้างหลัง การหกล้ม การเล่นกีฬาหรือโยคะ การนวดหรือการดัดตัว เป็นต้น ทำให้เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อคอถูกยืดมากหรือมีการฉีกขาดจนเกิดอาการปวดคอ
ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
ข้ออักเสบ ข้ออักเสบเรื้อรังบางชนิดอาจทำให้กระดูกคออักเสบไปด้วย เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น
อาการอักเสบของร่างการ เช่น คออักเสบ หูอักเสบ เป็นต้น อาจทำให้เป็นโรคกระดูกคอหรือกระตุ้นให้อาการหนักขึ้น
ความเครียดทางจิตใจ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อคอตึงตัวเป็นประจำจนส่งผลกระทบต่อกระดูกคอได้
โรคกระดูกคอมีชนิดใดบ้าง:
กระดูกคองอกกดทับรากประสาท กระดูกคอแต่ละข้อมีรากประสาทงอกออกจากไขสันหลังเพื่อควบคุมการทำงานของไหล่แขนและมือ เมื่อกระดูกคอเสื่อมลงตามวัย ข้อต่อจะหลวงหรือไม่แข็งแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอเรื้อรัง ถึงแม้ว่าบางรายอาจไม่มีอาการปวดคอก็ตาม แต่ก็จะรู้สึกเมื่อยคอเป็นประจำ
ต่อมาร่างกายมีการปรับสภาพโดยพยายามสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสื่อมไป กระดูกที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้เรียกว่า หินปูน หรือ กระดูกงอก ประกอบกับหมอนรองกระดูกที่เสื่อมและบางลง ทำให้ช่องว่างระหว่างข้อกระดูกคอแคบลง ในที่สุดไปกดทับจากประสาทและเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอและสะบัก
บางครั้งรู้สึกเสียวหรือชาและมีเสียงกรอบแกรบเวลาหันคอ หากปล่อยไว้เรื้อรังจะมีอาการปวดร้าวเสียวหรือชาที่แขนและมือ อาการจะเป็นมากเวลาเงยหน้า อาจมีการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อที่แขนและมือด้วย
กระดูกคอกดทับไขสันหลัง หินปูนที่เกาะตามกระดูกคอหรือกระดูกคอที่เสื่อมจะทรุดลงมากดทับไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดมึนศีรษะ แขนชา ปวดเมื่อย อ่อนแรงโดยเฉพาะหัวเข่าจะรู้สึกอ่อนแรง เวลายืนจะโคลงเคลง ก้าวขาไม่ค่อยออก ผิวหนังปวดแสบ ปวดร้อน อาจควบคุมปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้และสุดท้ายอาจเป็นอัมพาต
กระดูกคอกดทับหลอดเลือดแดง กระดูกคอมีรูให้เส้นประสาทและหลอดเลือดแดงสอดผ่าน เมื่อกระดูกคอและหมอนรองกระดูกเสื่อม ลงจะทำให้รูนี้แคบลง หลอดเลือดแดงก็จะเป็นตะคริวหรือถูกกดทับเลือดจึงไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการปวดเวียนศีรษะ ปวดตุบๆ ที่ท้ายทอย สายตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ วูบล้มลงอย่างกะทันหัน แต่ไม่หมดสติ สามารถลุกขึ้นได้เองอย่างรวดเร็วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แขนขาอ่อนแรง แขนชา หยิบของแล้วร่วง เวลาเงยหน้าหรือหันคออย่างกะทันหันจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ฯลฯ
กระดูกคอกดทับประสาทซิมพาเธติก ประสาทซิมพาเธติกควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ความดันโลหิต การขยับตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ตลอดจนกล้ามเนื้อเรียบในอวัยวะและต่อมขับหลั่งต่างๆ ในร่างกาย หากกระดูกคอหรือหมอนรองกระดูกคอเสื่อมและกดทับเส้นประสาท ก็จะเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน รู้สึกศีรษะหนักๆ ปวดท้ายทอย สายตาพร่า ปวดแน่นเบ้าตา ตาแห้ง เห็นแสงว็อบแว็บ ใจสั่น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูงขึ้น ฯลฯ
ปวดคอเนื่องจากกล้ามเนื้อตึงตัว กล้ามเนื้อบริเวณคอมีโครงสร้างซับซ้อนและทอสานเกี่ยวพันกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเราอยู่ในท่าเดียวนานๆ เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งดูทีวี เขียนหนังสือ เป็นต้น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณคอก็จะตึงตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดีจนเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยต้นคอ และไหล่แล้วจะลามไปที่สะบักและแขนด้วย
เมื่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตึงเกร็งนานๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อกระดูกคอ ทำให้กระดูกคอเคลื่อนและเกยทับกันได้เช่นกัน ส่วนการหนุนหมอนที่สูงเกินไปหรือผิดท่าจนทำให้เกิดอาการคอตกหมอนนั้นก็เกิดจากการตึงตัวของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อคอเช่นกัน แต่ผู้ที่มีอาการคอตกหมอนเป็นประจำแสดงว่ากระดูกคอเริ่มเสื่อมแล้ว
หากมีอาการปวดแขน แล้วเกิดความสงสัยว่า เป็นเพราะอะไรถึงได้ปวดแขน อย่าเดา...เนื่องจากอาการปวดแขนเกิดได้จากหลายสาเหตุดังนี้
1. ส่วนของคอ เช่น กล้ามเนื้อคออักเสบ หรืออาจจะเกิดจากข้อต่อคออักเสบ หรือที่รุนแรงกว่านั้นคือหมอนรองกระดูกสันหลังคอกดทับเส้นประสาท ทำให้มีอาการปวดแขน หรือปวดร้าวมาที่แขนได้
2. กล้ามเนื้อบ่าอักเสบ ทำให้มีอาการปวดแขนได้
3. เอ็นกล้ามเนื้อไหล่อักเสบ
4. กล้ามเนื้อสะบักอักเสบ
5. ข้อไหล่ติด
6. เอ็นกล้ามเนื้อข้อศอกอักเสบ เช่น tennis’ elbow หรือ golf ’s elbow
7. เส้นประสาทอักเสบ
ฯลฯ
ลักษณะอาการ จะปวดแขนส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ปวดต้นแขนด้านหน้าหรือด้านหลัง ปวดแขน หรือในบางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดคอ, ปวดไหล่, ปวดบ่า, ปวดสะบัก, ปวดหัว, ปวดข้อศอก, ปวดมือ หรือปวดนิ้ว หากมีอาการชาแขน มือ ร่วมด้วย หากเป็นมากอาจจะมีอาการอ่อนแรงของแขน หรือมือร่วมด้วย ควรรีบตรวจหาสาเหตุและรีบรักษาโดยเร็ว หากปล่อยอาการลุกลามมากขึ้น ในบางรายเริ่มจากปวดแขนจนปวดทั้งตัวได้
รีบไปพบหมอ...ตรวจหาสาเหตุและรักษาโดยเร็ว ก่อนที่จะเป็นอัมพาต
มีโอกาสเกิดอาการ มือชา เท้าชา
มือชาเท้าชา เป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่ง ที่มักเกิดกับคนในวัยทำงาน หรือผู้ที่ต้อง นั่งทำงานประจำออฟฟิศ นั่งโต๊ะใช้คอมพิวเตอร์นานๆ หรือนั่งอยู่ท่าเดิมนานๆ ก็อาจมีโอกาสเกิดอาการมือเท้าชาได้มากกว่าปกติ จากการที่เส้นประสาทโดนกดทับ ที่พบบ่อยคือ บริเวณข้อมือ ที่อยู่ในท่าแอ่น หรือ งอนานๆ เช่น การใช้เมาส์ หรือ พิมพ์งาน เป็นต้น
อาการมือเท้าชาในคนทำงานเกิดจากการที่เส้นประสาทที่พาดผ่านบริเวณข้อมือถูกกดทับ ซึ่งเส้นประสาทนี้จะผ่านจากแขนไปยังข้อมือเพื่อไปรับความรู้สึกที่บริเวณมือ โดยทอดผ่านบริเวณข้อมือและลอดผ่านเอ็นที่ยึดบริเวณข้อมือ อาจมีสาเหตุบางประการที่ทำให้เส้นประสาทนี้ถูกกดทับได้ จึงทำให้มือชา ร่วมกับมีอาการปวดชาร้าวไปยังท่อนแขนหรือต้นแขนได้ และบางคนพบว่ามือข้างที่เป็นอ่อนแรงหยิบจับสิ่งของไม่ถนัด ถ้าทิ้งไว้จะพบว่า กล้ามเนื้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่มืออาจจะแฟบลงเมื่อเทียบกับมืออีกข้างหนึ่ง พบในเพศหญิงมากกว่าชาย ระหว่างวัย 30-60 ปี
ผู้ที่ต้องประสบกับอาการมือชาเท้าชา นับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาจจะเป็นเพราะการใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบ รวมไปจนถึงการใช้ชีวิตอย่างไม่มีคุณภาพ ทำให้ร่างกายแสดงอาการอ่อนแอออกมาให้เห็นได้ง่ายขึ้น
อาการชาที่เกิดกับมือและเท้านั้น คนส่วนใหญ่อาจจะคิดว่าเกิดจากการที่ร่างกายขาดวิตามินบี.1 ตามที่เคยได้ร่ำเรียนมา แต่จริงๆแล้วอาการชาที่เกิดขึ้นกับมือและเท้านั้น อาจจะมีสาเหตุมาจากการที่เส้นประสาทถูกทับ จนแสดงอาการออกมาก็เป็นได้ ซึ่งบางคนเมื่อเกิดอาการเช่นนี้แล้วก็เลือกที่จะไปปรึกษาแพทย์ ในขณะที่อีกหลายคนก็เลือกที่จะทนกับอาการชาที่เกิดขึ้น จริงๆแล้ว อาการดังกล่าวก็เหมือนกับโรคอื่นๆทั่วไป หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องก็อาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
เส้นประสาทถูกกดทับ:
ผช.ศ.นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ แพทย์อายุรกรรมประสาท บอกว่า อาการมือชาเท้าชา มักจะพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก เนื่องจากร่างกายของผู้ใหญ่มีสภาพความเสื่อม และการใช้งานของร่างกายมากกว่าเด็กๆนั่นเอง
อาการมือชาเท้าชา เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการขาดวิตาบินบี.1 หรือเกิดจากโรคบางชนิด เช่น เบาหวาน แต่สาเหตุส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดจากการที่เส้นประสาทโดนกดทับ ซึ่งสามารถป้องกันได้ และสามารถรักษาได้ โดยไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัด
"คนส่วนใหญ่เวลาเกิดอาการมือชาเท้าชา มักจะคิดว่าเป็นโรคเหน็บชา ซึ่งโรคเหน็บชานั้นก็คือโรคที่ปลายประสาทเสื่อมจากการขาดวิตามินบี.1 ซึ่งมักจะเกิดอาการชาทั้งเท้าทั้งมือสองข้าง แต่โรคเหน็บชาในปัจจุบันเกิดน้อยลงไปทุกที เนื่องมาจากว่าคนรับประทานวิตามินเสริมกันมากขึ้น หรือเวลาไปหาแพทย์ก็มักจะได้วิตามินบี.1 มาด้วย แต่อาการชาตามมือตามเท้าที่เกิดขึ้นในตอนนี้มักจะไม่ได้มาจากการขาดวิตามินแล้ว แต่สาเหตุส่วนใหญ่เกิดมาจากปัญหาของเส้นประสาท ไขสันหลัง หรือสมองเกิดอาการผิดปกติ
หากที่พบได้บ่อยมากที่สุดนั้นก็คือ อาการชามือชาเท้า ที่เกิดมาจากเส้นประสาทถูกกดทับ ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่สภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป การใช้ชีวิตในชีวิตประจำวันที่อาจจะต้องทำงานใช้มือในการทำงานหนักจนเกินไป หรือใช้ผิดวิธี ก็ทำให้เกิดอาการเส้นประสาทถูกกดทับจนเกิดอาการชาได้ แล้วแต่ว่าเส้นประสาทโดนกดทับบริเวณไหน จะทำให้เกิดอาการชาไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะชามือไม่ชาแขน ชาแขนไม่ชามือ ชาทั้งมือทั้งแขน ชาเท้าไม่ชาขา ชาขาไม่ชาเท้า หรือชาทั้งเท้าทั้งขาก็ได้ ขึ้นอยู่กับบริเวณที่โดนกดทับ"
อาการที่แสดงออก:
ตำแหน่งของเส้นประสาทที่ถูกกดทับจะก่อให้เกิดอาการชาในบริเวณที่แตกต่างกันออกไป คือ
* เกิดอาการชามือ แต่เท้าไม่ชา
- ชาที่หลังมือแต่ไม่เกินข้อมือ แสดงว่าเกิดเส้นประสาทกดทับที่ต้นแขนด้านใน อาจจะเกิดจากการนั่งเอาแขนพาดพนักเก้าอี้นานจนเกินไป แต่ถ้าเกิดอาการชาเลยมาถึงข้อมือ จะเกิดจากการที่เส้นประสาทบาดเจ็บบริเวณรักแร้
- ชาที่บริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลางเป็นหลัก มักจะเกิดจากที่เส้นประสาทถูกกดทับที่บริเวณข้อมือ ซึ่งก็ควรจะลดการใช้งานของมือ และพยายามหลีกเลี่ยงท่าที่ทำให้ชา เช่น ขี่มอเตอร์ไซค์ โทรศัพท์ หรือชูมือ เป็นต้น
- ชาที่บริเวณนิ้วนาง และนิ้วก้อย ก็มักจะมาจากการถูกกดทับที่ข้อศอก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ข้อศอก หรือหลีกเลี่ยงการเท้าแขนบ่อยๆ
- ชาเป็นแถบ ตั้งแต่บริเวณแขนไปจนถึงนิ้วมือ จะเกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อม ไปกดทับเส้นประสาท ซึ่งควรปรึกษาแพทย์
* เกิดอาการชาเท้า แต่ไม่มีอาการชามือ
- ชาฝ่าเท้า เกิดจากเส้นประสาทบริเวณตาตุ่มด้านใน หรือบริเวณอุ้งเท้าถูกกดทับ ซึ่งก็ควรจะหลีกเลี่ยงท่าที่จะทำให้ขาชา พยายามลดการยืน หรือเดินนานๆ
- ชาหลังเท้า และลามขึ้นมาถึงหน้าแข้ง เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก เพราะฉะนั้นควรจะหลีกเลี่ยงการนั่งในท่าที่ต้องพับขา เช่น ท่าขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ หรือการนั่งไขว่ห้าง
- ชาด้านนอกของต้นขา เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ขาหนีบ ควรหลีกเลี่ยงการงอพับบริเวณสะโพก
- ชาเป็นแถบจากสะโพกลงมาจนถึงข้อเท้า เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนไปทับเส้นประสาท ซึ่งควรจะไปพบแพทย์
อาการทั้งหมดจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานหรือไม่นั้น ผช.ศ.นพ.พินิจ บอกว่า ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ ซึ่งถ้าเส้นประสาทที่ถูกกดทับเสียหายไม่มาก หรือเพียงแค่ช้ำเท่านั้น แค่ 1-2 วันอาการชาก็จะหายไปเอง แต่ถ้าเส้นประสาทเกิดการถูกกดทับจนเสียหายมาก ก็อาจจะเป็นปีที่อาการจะเริ่มดีขึ้น และเส้นประสาทเริ่มฟื้นตัวได้
ป้องกันและรักษาตามอาการ:
การรักษาอาการชามือชาเท้านั้นก็มีทั้งการรักษาด้วยการผ่าตัด และไม่ผ่าตัด โดยจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ และความรุนแรงของโรค "ถ้าเกิดอาการชาตามมือ ก็อาจจะแนะนำวิธีการปฏิบัติตัวให้คนไข้ ด้วยการให้ลดการทำงานโดยใช้มือก่อน ถ้ายังไม่ทุเลาก็อาจจะให้ยาไปรับประทานก่อน และถ้ายังไม่ทุเลาก็อาจจะต้องฉีดยา และถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นอีกก็อาจจะต้องใช้วิธีการผ่าตัด"
ส่วนการป้องกันนั้น ผช.ศ.นพ.พินิจ บอกว่า ควรจะต้องระมัดระวังในเรื่องท่าทาง ระมัดระวังตัวเองอย่าให้ร่างกายเกิดอาการอ่อนแอ และที่สำคัญต้องหัดสังเกตอาการชาเบื้องต้นอย่างละเอียดว่าเกิดอาการชา หรือปวดแสบปวดร้อนที่บริเวณใดให้ชัดเจน เพื่อที่เมื่อไปพบแพทย์แล้ว แพทย์จะได้สามารถวินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้องและชัดเจน เพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เนื่องมาจากเส้นประสาทมีความซับซ้อนมาก ถ้าคนไข้ที่เกิดอาการไม่สังเกต และบ่งบอกอาการ หรือบริเวณที่เกิดอาการชาได้อย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้แพทย์วินิจฉัยผิดตำแหน่งได้ง่าย และการรักษานั้นก็จะไม่เกิดผลแต่อย่างใด
"คุณเพียงแค่สังเกตอาการต่างๆเหล่านี้เพิ่มขึ้นสักนิด ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวคุณเองที่จะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีนั่นแหละครับ"
ผช.ศ.นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ กล่าวทิ้งท้าย
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงท่านที่ส่งบทความที่มีประโยชน์อย่างมากนี้มาให้ และไม่บอกด้วยว่า ผช.ศ.นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์ ท่านประจำ รพ.ไหน
@ เอาสูตรทำอาหารมาฝากจ้า... หนังสือ ครบเครื่อง เรื่องอาหารเจ
แจ้งเตือนภัยมายังเพื่อนที่อยู่ในวัย โอ๊ะ โอ๊ะ 50 +
By: หลานอำมาตย์สีแดง เว็บประชาทอล์ค พฤ, 26/09/2013 - 16:27
หากอยู่ดีๆ เกิดมีอาการดังนี้
1. แขนและขา ข้างใดข้างหนึ่งอ่อนแรง เดินเซหรือเดินไม่ได้
2. พูดติดขัด ไม่ชัด พูดไม่ออก
3. มุมปากตกข้างใดข้างหนึ่ง หรือ ปากเบี้ยว
ให้รีบไปโรงพยาบาลโดยด่วน ทันที อย่าให้เกิน 3 ชั่วโมง เพราะเป็นอาการของโรคหลอดเลือดสมองอุดตันชนิดเฉียบพลัน นำไปสู่การเป็นอัมพฤกษ์/อัมพาตได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาได้ทัน
เรื่องนี้เกิดกับตัวผมเองอาทิตย์ที่แล้ว ดีที่คุณพระยังเมตตาเลยรอดมาได้ เดี๋ยวค่ำๆมาต่อครับ ขอไปทำธุระส่วนตัวสัก 2-3 ช.ม.
ผมขอเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนนะครับ
อังคารที่แล้ว หลังจากเสร็จมื้อเย็นเวลาประมาณ 19.45 น. เหมือนทุกๆวันที่เคยทำมา ผมออกไปเดินเล่นนอกตัวบ้าน กะว่าไปสูบบุหรี่ ขณะกำลังเดินๆอยู่ มันมีความรู้สึกว่า
เอ๊ะ ทำไมเราเดินเป๋ๆไปทางซ้าย พยายามฝืนเดินให้ตรงคิดว่าคงนั่งผิดท่าหน้าคอมนานเกินไป
ฝืนได้สักพักมาเข้าห้องน้ำ พอเสร็จธุระจะใส่กางเกง เอาละสิ ขาซ้ายมันยกไม่ค่อยขึ้น ต้องนั่งลง ใช้มือสองข้างจับขากางเกงข้างซ้าย ค่อยๆสอดใส่ขาข้างซ้ายจนสำเร็จ ชักเอะใจกรูเป็นไรว้า
ออกจากห้องน้ำ ค่อยๆเดินมาหาแฟน นั่งอยู่หน้าคอมพร้อมเอ่ยปากถามว่า
"เจี๊ยบ เจี๊ยบ ฟังพี่หลานพูดรู้เรื่อง มั้ย" (แฟนผมชื่อ เจี๊ยบ) แต่..เสียงที่ผมได้ยินกับหูซึ่งออกจากปากผมเอง กลับกลายเป็นว่า "เจ๊ เจ๊ ฟานพี่หานพูกอุ๊เอื้อง อั๊ย" จริงๆครับ ได้ยินหยั่งงี้จริงๆ
เจี๊ยบเค้าค่อยๆเงยหน้าขมวดคิ้วมองมาที่ผม ผมก็ถามประโยคเดิมออกไปและได้ยินเหมือนเดิมอีกครั้ง
เอาละซิ คราวนี้เป็นเรื่อง เจี๊ยบกระโจนผลุงยืนขึ้น พร้อมตะโกนบอกผมให้ไปโรงพยาบาลเดี๋ยวนี้ แล้วเรียกลูกให้ช่วยขับรถให้
ผมมารู้ทีหลังว่า เจี๊ยบเค้ามีความรู้เรื่องนี้พอควร จึงแก้ปัญหาได้ทัน
มาถึงหน้าห้องฉุกเฉิน พยาบาลเข็นเตียงมารับพาเข้าข้างใน มีหมอมาตรวจดูอาการเบื้องต้น สักพักใหญ่ๆ อีก็ตะโกนว่า สโตรก ๆ ๆ แล้วให้พยาบาลเข็นเตียงเข้าฉุกเฉินด้านในทันที
มีหมอมาถามย้ำอีกว่า ใช้เวลานานแค่ไหนตั้งแต่เกิดเรื่องจนมาอยู่ในห้องฉุกเฉิน
พวกเราทุกคนยืนยันว่าไม่เกินครึ่ง ช.ม. หมอจึงให้ไปสแกนสมอง เอ็กซเรย์ปอด ตรวจวัดคลื่นหัวใจ
แล้วให้ผมนอนรอร่วมๆ ช.ม. หมอจึงมาบอกว่า สงสัยเส้นเลือดในสมองตีบ หมอขอดูอาการสักระยะโดยหมอจองห้องแล้ว จึงให้ผมนอนอยู่ในโรงพยาบาลอย่างน้อย 72 ช.ม.
หลังจากเข้ารับการอบรมเอ๊ย..ไม่ใช่ รักษาในห้องดูอาการ(อย่างทรมาน)เป็นเวลา 3 วัน อาการผิดปกติต่างๆ ค่อยๆฟื้นตัวดีขึ้นจนเกือบเป็นปกติทุกอย่าง ไม่มีอาการกำเริบ อีทีนี้ หมอก็สั่งให้กลับบ้านในวันรุ่งขึ้นทันที
รวม 3 วัน VIP รพ.รัฐ ค่าลงทะเบียนอบรมเกือบ 20k หย่อนไปไม่กี่สิบบาทครับ
ขอบ่นนิดนึง ที่ผมใช้คำว่าอบรมก็น่าจะถูกต้องนะ ตลอด 3 วันที่นอนอยู่มีหมอจากแผนกต่างๆ เข้ามาตรวจ(สอบถาม)อาการต่างๆ รวมทั้งหมดเกือบๆ 10 คน พยาบาลพร้อมผู้ช่วยอีกผลัดละร่วม 10 คน 3 ผลัด 30 คน เกือบทุกคนใช้คำถามแนวทางเดียวกัน หากรู้ตัวก่อนหน้านี้คงต้องพูดใส่เทปไว้ดังนี้
"ผมกินเหล้า/เบียร์ สูบบุหรี่มาประมาณ 40 ปี เบียร์ปกติ 3-4 ขวด วันหยุด 6-8 ขวด บุหรี่วันละ 6-7 มวน รู้ครับรู้ ว่ามันอาจไม่ดี แต่มีตาแก่แถวบ้านอายุร่วมๆ 80 ปี 2-3 คน ตื่นเช้ามากระดกเหล้าเพียวๆ แล้วยังสูบบุหรี่ทั้งวัน เค้ายังอยู่อย่างปกติดีอยู่เลย"
แล้วก็มีเสียงตามมา ฉอด ฉอด ๆ ๆ ๆ ๆ...............
@ แล้วคุณหมอก็สั่งเจาะเลือดหาไขมันน้ำตาลผมจนได้
ในคลิปตอนต้นเป็นการวัดความดันโลหิต ตอนท้ายๆเป็นการทำกายภาพบำบัดด้วยการประคบคอโดยให้นอนหงายใช้ผ้าขนหนูห่อแผ่นร้อนหนุนคอ, กระตุ้นไหล่แขนที่ปวดด้วยคลื่นไฟฟ้า และนั่งเก้าอี้ดึงคอ
โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ Urinary tract infection (UTI)
By: health.phahol
อีกโรคหนึ่งฮิตของ"คนบ้าทำงาน"
โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ หมายถึงเกิดการอักเสบของระบบขับปัสสาวะซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ท่อปัสสาวะจนถึงไต สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อโรคแถวบริเวณท่อปัสสาวะ
ระบบทางเดินปัสสาวะของคนเราประกอบไปด้วย ไต(kidney) และท่อไต(ureter) 2 ข้าง กระเพาะปัสสาวะ(bladder) และท่อปัสสาวะ(urethra)
ไตทำหน้าที่กรองของเสียเป็นปัสสาวะและนำออกทางท่อไตสู่กระเพาะปัสสาวะ และขับออกทางท่อปัสสาวะ
ภาวะติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเป็นปัญหาที่พบบ่อยทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก พบว่าผู้หญิงจะเป็นมากกว่าผู้ชาย 8-10 เท่า ประมาณว่าคุณผู้หญิง 1 ใน 5 คนเป็นเคยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
สาเหตุของทางเดินปัสสาวะอักเสบ
ปัสสาวะปกติประกอบด้วยน้ำและเกลือ ไม่มีเชื้อโรค การติดเชื้อเกิดเมื่อมีเชื้อโรคโดยมากมาจากทางเดินอาหารจากอุจจาระลุกลามมาท่อปัสสาวะ(urethra) ทำให้เกิดการอักเสบเรียก Urethritis
หากเชื้อนั้นลามเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบ เรียก กระเพาะปัสสาวะอักเสบ Cystitis
และหากไม่ได้รักษาเชื้อจะลุกลามไปท่อไต และไต เรียก กรวยไตอักเสบ Pyelonephritis
เชื้อที่เป็นสาเหตุสำคัญคือ E. coli เป็นเชื้อปนเปื้อนจากอุจจาระ นอกจากนั้นยังพบว่าเชื้อ Chlamydia และ Mycoplasma ก็สามารถทำให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบ เชื้อดังกล่าวเกิดจากเพศสัมพันธ์การรักษาต้องรักษาทั้งคู่
ใครมีโอกาสเกิดโรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
* ผู้ที่มีนิ่วทางเดินปัสสาวะ
* ผู้ที่มีต่อมลูกหมากโต
* ผู้ที่คาสายปัสสาวะ
* ผู้ป่วยที่ระบบประสาทควบคุมการปัสสาวะเสียเช่นโรคเบาหวานประสาทไขสันหลังอักเสบ
* ผู้หญิงมีโอกาสเกิดทางเดินปัสสาวะอักเสบได้ง่ายกว่าผู้ชายเนื่องจากท่อปัสสาวะสั้นกว่าผู้ชายและตำแหน่งที่เปิดอยู่ใกล้กับทวารหนัก และช่องคลอดทำให้เชื้อลุกลามมาที่ท่อปัสสาวะได้ง่าย
* การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในผู้ชาย มักจะพบร่วมกับนิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรือต่อมลูกหมากโต หรือจากคาสายสวนปัสสาวะ
ผู้ป่วยที่มีทางเดินปัสสาวะอักเสบจะมีอาการอะไรบ้าง
ผู้ป่วยที่มีท่อปัสสาวะอักเสบ Urethritis จะมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะจะสุดแล้วจะปวด บางรายมีคราบหนองติดกางเกง
ผู้ป่วยที่มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบจะมีอาการ ปวดหน่วงๆท้องน้อย ปัสสาวะออกครั้งละน้อยๆ ปวดมากเมื่อปัสสาวะจะสุด บางรายมีเลือดออก
ผู้ป่วยที่มีกรวยไตอักเสบ pyelonephritis จะมีอาการเหมือนกระเพาะปัสสาวะอักเสบ แต่จะมีไข้ ปวดเอว ปัสสาวะขุ่น
ชนิดของการติดเชื้อ
ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง การติดเชื้อที่รูเปิดของปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ และท่อไต ถือว่าเป็นการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง อาการมักไม่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิต ยกเว้นคนไข้มีโรคแทรกซ้อนอื่นๆ
ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะส่วนบน การติดเชื้อที่ไตแบ่งตามกายวิภาคเป็นการติดเชื้อที่กรวยไต ติดเชื้อที่เนื้อไต ติดเชื้อบริเวณเนื้อเยื่อรอบๆไต อาการมักรุนแรงตามข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆข้อ ดังนี้
* มีไข้สูงหนาวสั่้น
* เจ็บปวดบริเวณสีข้าง ข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง ร้าวไปด้านหลัง
* อ่อนเพลีย รับประทานน้ำและอาหารไม่ได้
* น้ำหนักลดอย่างรวดเร็วจากความเจ็บป่วย ไข้สูง
* คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร กินข้าว ดื่มน้ำไม่ได้
* ความดันโลหิตตก
* ความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง ซึม เบลอ ไม่พูดไม่จา ฯลฯ
ข้อแนะนำ:
1. ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว
2. ถ้ารู้สึกปวดปัสสาวะก็ควรเข้าห้องน้ำทันที ไม่ควรอดทนอั้นไว้
3. สำหรับผู้หญิงหลังจากปัสสาวะแล้วควรจะทำความสะอาดโดยเช็ดจากหน้าไปหลัง เพราะบริเวณทวารหนักอาจจะมีเชื้อโรคจากลำไส้ ถ้าทำความสะอาดเช็ดจากหลังมาหน้าอาจจะมีการปนเปื้อนของเชื้อโรคในทางเดินปัสสาวะได้
4. คนที่เป็นเบาหวานมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นภาวะทางเดินปัสสาวะอักเสบ ควรดูแลไม่ให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเพราะจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย
5. หลังทานยาปฏิชีวนะควรจะทานโยเกิร์ตที่ประกอบไปด้วยจุลชีพที่มีประโยชน์ตาม การรับประทานโยเกิร์ตนั้นมีประโยชน์เพราะเป็นแลคโตบาซิลัส หากทานเป็นประจำจะป้องกันเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราในลำไส้และทางเดินปัสสาวะ คลิกที่นี่...วิธีทำโยเกิร์ตรับประทานเอง
6. รับประทานผัก ผลไม้ อาหารเสริมที่มีวิตามินซีเป็นองค์ประกอบจะมีประโยชน์ ทำให้ทางเดินปัสสาวะเป็นกรดยากต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียในกระเพาะปัสสาวะ
7. พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทำให้ร่างกายแข็งแรง ช่วยให้เราห่างไกลจากโรคได้