การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเป็นโมฆะหรือไม่???
By: คนการเมือง
@ กกต.จะเสี่ยงทำผิดกฎหมายรึ ???
การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเป็นโมฆะหรือไม่??? ดูจากกฎหมายต่อไปนี้
@ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550
รธน. ม.93
วรรค 3 บัญญัติว่า "หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา"
วรรค 6 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ถึงสี่ร้อยแปดสิบคน แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบห้าของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกจำนวนนั้น ประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร แต่ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบจำนวนตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวัน และให้อยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าอายุของสภาผู้แทนราษฎรที่เหลืออยู่"
จะเห็นได้ว่า รธน. ม.93 (วรรค 6) บัญญัติไว้ชัดเจนถึงกรณีที่เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใดแล้วได้ ส.ส. ไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.เติมเข้ามาจนครบจำนวนภายในเวลา 180 วัน อันเป็นบทบัญญัติที่สะท้อนให้เห็นว่า เป็นเรื่องปกติที่เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้ และรัฐธรรมนูญได้หาทางออกไว้ให้แล้ว
@ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งฯ พ.ศ.2550
พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ม.8 (หมวด 1 ส่วนที่ 1 บททั่วไป)
"ในการดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่ามีกรณีอันควรเชื่อได้ว่า การเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งภายในเจ็ดวันทำการนับแต่วันเลือกตั้ง
แต่ถ้าเห็นว่าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสงสัยว่ามีกรณีไม่สุจริตและเที่ยงธรรมในเขตเลือกตั้งใด จะยังไม่ประกาศผลสำหรับเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้ แต่ต้องสอบสวนและวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง ทั้งนี้ การประกาศผลการเลือกตั้งไม่มีผลกระทบกระเทือน
การดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งตามหมวด 1 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่วนที่ 10 การดำเนินการกรณีการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และส่วนที่ 11 การคัดค้านการเลือกตั้ง"
พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ม.78 (ส่วนที่ 7 การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง)
วรรคแรก ในกรณีที่การลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งแห่งใดไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ถ้าเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งได้โดยสะดวก แต่ถ้าไม่อาจกำหนดที่เลือกตั้งใหม่ได้ ให้ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน
วรรคสอง ในกรณีที่เหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในวันเลือกตั้ง ให้คณะกรรมการประจำเขตเลือกตั้งหรือคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ประกาศงดลงคะแนนเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งนั้น แล้วรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งโดยด่วน
วรรคสาม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้นโดยเร็ว เว้นแต่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
วรรคสี่ ในการดำเนินการตามวรรคสาม ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จตามมาตรา 8 ได้ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง จัดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งใหม่สำหรับหน่วยเลือกตั้งนั้นได้ตามความเหมาะสมโดยไม่ต้องนำระยะเวลาตามวรรคสามมาใช้บังคับก็ได้
ม.78 วางแนวทางไว้แล้วว่า หน่วยเลือกตั้งใดไม่สามารถเลือกตั้งได้ ให้ กกต.กำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้งใหม่ในหน่วยเลือกตั้งนั้นโดยเร็ว หรือ กกต.จะกำหนดได้ตามความเหมาะสม
พ.ร.บ.การเลือกตั้งฯ ม.102 (ส่วนที่ 9 การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง)
วรรคแรก การออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งตามส่วนที่ 9 นี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจดำเนินการล่วงหน้าเพื่อนำบัตรเลือกตั้งมานับรวมในวันเลือกตั้งได้ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเฉพาะท้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเป็นอย่างอื่นก็ได้
วรรคสอง ในกรณีที่บัตรเลือกตั้งส่งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งใดหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้วให้ถือว่าบัตรเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย
วรรคสาม ในกรณีที่บัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย หรือมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งที่ใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยสั่งมิให้นับคะแนนจากที่นั้นก่อน แล้วจึงสั่งให้บัตรเลือกตั้งจากที่นั้นเป็นบัตรเสีย
ตาม ม.102 การลงคะแนนเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้ง (ที่เรียกว่าเลือกตั้งล่วงหน้า) เมื่อมีเหตุจำเป็นเฉพาะท้องที่ จะไม่นำบัตรมานับรวมในวันเลือกตั้งก็ได้ เป็นข้อยกเว้นที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นกรณีที่อาจเกิดขึ้นได้และกฎหมายได้มีทางออกไว้ให้แล้ว
@ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550
ทั้งหมดนี้ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กกต.ทั้งสิ้น ตาม พ.ร.บ. กกต. ม.10
และ ม.29 ยังกำหนดว่า "ห้ามมิให้กรรมการการเลือกตั้ง... กระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ในการดำเนินการเกี่ยวกับการเลือกตั้ง..."
กกต.ไม่ต้องกลัว เพราะในการปฏิบัติหน้าที่นั้น ถ้ากระทำการตามหน้าที่โดยยึดหลักสุจริต ยึดหลักกฎหมาย ก็ย่อมได้รับความคุ้มครอง ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครอง
ทั้งหมดนี้ เป็นข้อมูลว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเป็นโมฆะหรือไม่ ขอให้วิญญูชนได้พิจารณา